นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง “ระบอบ 3 ป. อุบัติใหม่วงจรการเมืองไทย แตกหน่อก่อเชื้อร้ายไม่จบสิ้น” มีเนื้อหาระบุว่าผมเห็นปัญหาการตีความกฎหมายที่แตกต่างกันของคณะกรรมการสรรหาสองชุดคือ คณะกรรมการสรรหา กสม.และคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ในเรื่องคุณสมบัติของอดีตสนช.ว่าเป็นสส.หรือสว.หรือไม่ ถ้าเป็นและยังพ้นตำแหน่งไม่ถึง 10 ปี ก็เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามนั่งตำแหน่งในองค์กรอิสระไม่ได้ ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการสรรหา กสม.มีมติว่า อดีตสนช.เป็นสส.และสว.จึงต้องพ้นตำแหน่งสิบปีก่อนที่จะไปรับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระ แต่กรรมการสรรหา ป.ป.ช.มองต่างมุม ไฟเขียวให้อดีตสนช.เป็นป.ป.ช.ได้ จนถึงขั้นผ่านความเห็นชอบของสว.ไปแล้ว
อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุต่อไปว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่ทำให้เกิดโครงสร้างกรรมการสรรหาที่แตกต่างกันระหว่างกรรมการสรรหา กสม.กับกรรมการสรรหาองค์กรอิสระอื่น ซึ่งส่วนตัวคิดว่าการเพิ่มองค์กรภาคประชาชนไปร่วมเป็นกรรมการสรรหาเป็นเรื่องที่ดีและมีความจำเป็นแต่น่าเสียดายที่กำหนดไว้เฉพาะในกรรมการสรรหาของ กสม.เท่านั้น ขณะนี้มีความพยายามอธิบายว่า แม้สนช.จะทำหน้าที่แทนสส.และสว. รับสิทธิประโยชน์เหมือนสส.และสว.ทุกอย่าง แต่ไม่ได้เป็นสส.และสว. จึงไม่จำเป็นต้องพ้นตำแหน่งสิบปีถึงจะไปสมัครรับตำแหน่งในองค์กรอิสระ ถ้ายึดการตีความแบบนี้ ผมเชื่อว่าจะมีอดีตสนช.เรียงแถวเข้าคิวไปรับการสรรหาเป็นองค์กรอิสระอีกเพียบ ผลที่ตามมาคือ หากคนเหล่านั้นได้รับเลือกจะถูกมองทันทีว่า กรรมการในองค์กรอิสระกลายเป็นคนของ คสช. เพราะคนที่เลือกก็เป็นสว.ที่คสช.เป็นผู้แต่งตั้ง แม้จะมี 50 คนมาจากการเลือกกันเองจากการแบ่งกลุ่มอาชีพก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีคำสัมภาษณ์เชิงขู่ว่า จะเกิดปัญหาใหญ่ถ้าตีความว่า สนช.เป็นสส.และสว.พราะจะทำให้อดีตสนช. 80 คนที่รั้งตำแหน่งสว.ในขณะนี้ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ผมก็อยากบอกว่าท่านไม่ต้องห่วงหรอก เพราะทันทีที่พวกท่านลุกจากเก้าอี้ เขาก็เลื่อนรายชื่อ สว.สำรองขึ้นมาแทน ประเทศชาติไม่เสียหาย เพียงแต่เสียงบประมาณที่ต้องจ่ายให้สว. 250 คนต่อไปโดยเปล่าประโยชน์เท่านั้น ระบบกฎหมายที่เกิดขึ้นในยุคคสช.ผมจึงขอเรียกว่าระบอบ 3 ป.ซึ่งได้สร้างอภิสิทธิ์ชนรุ่นใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ไล่ตั้งแต่มีบางคนเป็นสนช.มาตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติแบบสลับตำแหน่งระหว่างสนช.กับสว.ยาวได้ถึง 18 ปี ตามวาระ 5 ปีที่จะครบในปี 2567 ในขณะที่วาระปกติของสส. สว.มีเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น และมี 15 อดีตรัฐมนตรียุคคสช.พอพ้นตำแหน่งก็ได้เป็นสว.แบบไม่ขาดตอน มีกรรมการสรรหา สว. 6 คนเลือกตัวเองเป็นสว.โดยไม่สนคำครหาผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะที่กฎหมายก็เอื้อมไม่ถึง นี่ผมไล่เรียงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสนช.และสว.เท่านั้น ยังไม่รวมถึงประเด็นอื่น ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามเรื่องการตีความกฎหมายแบบเอียงกะเท่เร่เข้าข้างผู้มีอำนาจ
“ในฐานะที่ผมต่อสู้กับความไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ยุคพฤษภาทมิฬ จนถึงระบอบทักษิณ เข้าสู่ระบอบ 3 ป. เห็นการเมืองยิ่งถอยหลังลงคลอง นอกจากไม่มีการปฏิรูปแล้วยังกลับสู่วังวนแห่งการต่อรองและการสมประโยชน์แบบไม่มีที่สิ้นสุด ท่ามกลางระบบที่ฟอนเฟะยิ่งกว่าเดิม มีการเอื้อประโยชน์ทำโปรโมชั่นให้เกิดการย้ายค่าย ไปจนถึงดีลลับที่ส่งผลให้บางคดียุติลง ทั้งที่ควรต้องยื่นอุทธรณ์ต่อ สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นของเสียสะสม ที่จะทำให้ความขัดแย้งปะทุรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต จึงอยากให้ผู้มีอำนาจปรับทัศนคติตัวเองเสียใหม่ ใช้อำนาจด้วยความเป็นธรรม อย่ารอให้ต้องถึงวันที่ประชาชนลุกขึ้นมาปรับทัศนคติ เพราะถ้าถึงวันนั้นประเทศชาติจะบอบช้ำอย่างรุนแรง”นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย
//////////
Comment here