การเมืองกิจกรรมเพื่อสังคมข่าวสังคมหนังสือพิมพ์

ธรรมนัส ลงภูเก็ต รับข้อเสนอช่วยแก้ไขปัญหา

เมื่อ วันที่ 3 พ.ย.63 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์ดำรงธรรมส่วนหน้า โรงเรียนบ้านไม้ข้าว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
เครือข่ายขบวนการสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) จำนวน 200 คนยื่นข้อเสนอการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) ในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรจังหวัดภูเก็ต วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ดังนี้
๑.ให้มีมติ ครม.คุ้มครองพื้นที่กรณีปัญหาของพีมูฟ ซึ่งอยู่ในการแก้ปัญหาร่วมกับรัฐบาลไม่ให้ถูกคุกคามจนกว่าการแก้ปัญหาจะมีข้อยุติทุกกรณีปัญหา
๒.ให้ คทช. ดำเนินการนโยบายโฉนดชุมชน เป็นแนวทางหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้แนวทาง คทช. และดำเนินการรับพื้นที่โฉนดชุมชนที่ยื่นขอไว้ ๔๘๖ ชุมชน เพื่อไปตรวจสอบและดำเนินการต่อเนื่องโดยเริ่มต้นจากชุมชนที่เป็นสมาชิกพีมูฟ ที่เสนอเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนแล้ว
๓.ให้ออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ที่ดิน ที่เกิดจากกระบวนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ โดยไม่มีการตรวจสอบ คดีผู้ได้รับผลกระทบจากแผนทวงคืนผืนป่า คดีความที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการแก้ปัญหาที่ดินกับรัฐล่าช้าจนเกิดคดีความคนจนขึ้น รวมทั้งยุติการดำเนินคดีกับทุกกรณีปัญหาที่อยู่ในกระบวนการแก้ปัญหาที่ล่าช้า
๔.ทบทวนและยกเลิกกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับ พ.ศ. ๒๕๖๒ ทั้ง ๓ ฉบับ ซึ่งขัดกับสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และทบทวนกฎหมายทั้ง ๓ ฉบับด้วย
๕.ให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเร่งดำเนินการแก้ปัญหาชุมชนไร้ที่ดิน และสนับสนุนงบประมาณ ให้ บจธ.๕๕๐ ล้าน เพื่อดำเนินการจัดซื้อที่ดินตามบัญชีของชุมชนที่จะดำเนินการแก้ปัญหาคนจนได้
๖.ตามที่อดีตประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาพีมูฟ รองนายกรัฐมนตรี(นายวิษณุ เครืองาม) ได้เคยมีบัญชาที่จะลงดูพื้นที่การจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบาย คทช. จึงเสนอให้คณะกรรมการแก้ปัญหาพีมูฟ เป็นเจ้าภาพร่วมกับเครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ตจัดงานมหกรรมโฉนดชุมชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตโดยประธานคระกรรมการแก้ปัญหาพีมูฟ รองนายกรัฐมนตรี ลงมาเป็นประธานจัดงาน และดูรูปธรรมในพื้นที่จริงโดยเร็ว
๗.เสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการผลักดัน พรบ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ตามแผนปฏิรูปประเทศ ในขณะที่ดำเนินการอยู่ให้รัฐบาลสนับสนุนการขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรี ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และ มติคณะรัฐมนตรี ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยให้มีคณะกรรมการอำนวยการ ติดตาม และขับดคลื่อนมติคณะรัฐมนตรี ทั้ง ๒ เรื่องให้เกิดรูปธรรม
๘.ให้รัฐบาลเร่งคุ้มครองเกษตรกรที่เคยได้รับสิทธิ สปก. แล้วและทำกินในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง แต่ต่อมา เกิดการทับซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ และอื่นๆ ซึ่งกำลังถูกยึดคืนพื้นที่ สปก. และเริ่มมีปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินของสมาชิก และที่ดินที่เตรียมการแจก สปก.ใหม่ด้วย
๙.นโยบายด้านสถานะและสิทธิบุคคล
(๙.๑) นโยบายการแก้ปัญหาด้านสถานะและสิทธิบุคคลของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์ุ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่องมายาวนานเป็นการเร่งด่วนภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน
(๙.๒) ให้ขยายมติคณะรัฐมนตรี ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ เพื่อสำรวจคนตกหล่น/ตกสำรวจเป็นการเฉพาะ นำไปสู่การแก้ปัญหาคนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ
(๙.๓) แต่งตั้งกรรมการ/คณะทำงานแก้ปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลที่เป็นกรรมการ/คณะทำงานกลางโดยปฎิบัติงานภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน มีนักวิชาการด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มคนไร้สิทธิสถานะเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มปัญหา
(๙.๔) สั่งการให้เกิดการปฏิบัติในระดับพื้นที่โดยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลงาน ให้นำไปสู่การปฏิบัติการได้จริง
(๙.๕) จัดตั้งกองทุนตรวจ DNA กองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนที่รอการแก้ปัญหาด้านสถานะ และการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน ทันที
(๙.๖) จัดให้คนไทยพลัดถิ่นได้มีที่ดินทำกินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินของรัฐ เพื่อให้สามารถเลี้ยงชีพและขจัดความยากจน ได้
๑๐.แนวทางแก้ปัญหาของ สกต.ให้ส่งมอบพื้นที่ในรูปแบบของสถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์ทั้ง ๕ ชุมชน หากไม่สามารถส่งมอบในรูปแบบสถาบันเกษตรกรได้ก็ให้จัดระเบียบโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการ ออกแบบ
๑๑. ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยออกมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อให้ชุมชนในที่ดินของการรถไฟฯสามารถเช่าที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยได้ทั่วประเทศ ตามแนวมติคณะกรรมการรถไฟฯเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๓ ซึ่งเดิมเคยมีมติให้เช่าเพียง ๖๑ ชุมชน
โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของเครือข่ายขบวนการสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนครี ที่ 269/2563 ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการดังกลล่าว ลงมารับเรื่องจากเครือข่ายเพื่อเสนอให้ พล.เอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายนกรัฐมนตรี พิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรีคราวประชุมสัญจรที่จังหวัดภูเก็ตพิจารณาช่วยเหลือตามข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชน โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่ากล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน ตนจะเร่งนำเสนอท่านรองนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.63 เวลา 17.00 น.ตนได้เดินทางลงไปที่ทำการเครือข่ายขบวนการสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ)ภูเก็ต พร้อมคณะส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังปัญหาและหาทางช่วยเหลือ โดยในวันที่ 9 พ.ย.63 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเรียกประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของขบวนการสังคมที่เป็นธรรม ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อลงรายละเอียดในการแก้ไขปัญหากับตัวแทนเครือข่ายและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนต่อไป สำหรับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตนโดยตรงโดยสั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการสามฝ่ายประกอบด้วยตัวแทนเครือข่าย ผู้แทนส่วนราชการ และคนกลาง ลงไปตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ สปก.สุราษฎร์ธานีแล้ว

Comment here