ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปชมความงดงามของทะเลหมอกยามเช้าบนเขาไข่นุ้ย ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา โดยมีอากาศเย็นสบาย ทะเลหมอกที่ทอดยาวตามหุบเขาลอยเอื่อยๆอย่างสวยงามโดยเฉพาะช่วงที่พระอาทิตย์กำลังโผล่พ้นจากขอบฟ้า ลอยผ่านทะเลหมอก เป็นภาพที่น่าประทับใจของนักท่องเที่ยวที่ได้ขึ้นมาชม ซึ่งในช่วงวันหยุดยาวหรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เขาไข่นุ้ยจะมีนักท่องเที่ยวพากันจับจองที่พักของท่องเที่ยวชุมชนกันเป็นจำนวนมาก เพื่อชมพระอาทิตย์ตกในทะเลอันดามันทางทิศตะวันตก และชมพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าทางทิศตะวันออก ซึ่งบนยอดเขาจะสามารถชมวิวได้แบบ360องศา สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมของการเดินทางมาชมทะเลหมอก ตั้งแต่เวลา 05.30-08.00น.จะเป็นเวลาที่ดีที่สุด
นายรวยชัย กิตติพรหมวงศ์ ส.อบจ.พังงา เขตอำเภอท้ายเหมือง เปิดเผยว่า เขาไข่นุ้ย ตั้งอยู่ที่บ้านฝายท่า ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง เป็นจุดชมทะเลหมอกสุดฮิตของนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพังงาและฝั่งอันดามัน เขาไข่นุ้ยมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร เขาไข่นุ้ยสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและชมทะเลหมอกสีขาวขาวลอยเหนือยอดเขาสูงสลับซับซ้อนปกคลุมทิวเขาน้อยใหญ่ และในตอนเย็นยังสามารถชมพระอาทิตย์ตกในทะเลอันดามันที่สวยงามได้อีกด้วย เรียกว่าจังหวัดพังงานั้นนอกจากมีแหล่งท่องเที่ยวในทะเลอันดามันที่สวยงามแล้ว ยังมีจุดชมวิวทะเลหมอกที่สวยงามสุดอเมซิ่งไม่แพ้ที่ใดอีกด้วย
เขาไข่นุ้ยเดิมเป็นพื้นที่ทำสวนยางพาราของชาวบ้าน ชาวบ้านที่นี่เห็นทะเลหมอกกันจนชินตา แต่ไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ จุดเด่นของเขาไข่นุ้ยมีอยู่ 5 อย่าง คือ 1.พระอาทิตย์ขึ้น 2.พระอาทิตย์ตก 3.ทะเลหมอก 4.ทะเลอันดามัน และ 5.เขาไข่นุ้ย จะมีหมอกอย่างหนาแน่นให้นักท่องเที่ยวได้ชมเนื่องจากบริเวณที่เห็นทะเลหมอกเป็นช่องเขาขนาดใหญ่ล้อมรอบซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ที่นี่จึงทำให้เกิดสายหมอกได้เนื่องจากความชุ่มชื้นนั่นเอง โอกาสในการชมทะเลหมอกในทุกๆเช้า นั้นมีมากถึง 80% และสามารถชมทะเลหมอกได้ทุกฤดูแม้แต่ฤดูร้อนที่นี่ก็ยังมีทะเลหมอกให้ชม
สำหรับชื่อที่มาของภูเขาตั้งตามชื่อคนค้นพบ คือบังไข่กับบังนุ้ย แต่ก่อนเขาลูกนี้ เป็นพื้นที่สวนยางของ บังไข่ มีพื้นที่สวนยางอยู่ฝั่งตะวันตกหรือฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนบังนุ้ย มีพื้นที่สวนยางอยู่ฝั่งตะวันออกหรือฝั่งภูตาจอ และได้มีนักศึกษามาทำกิจกรรมในพื้นที่ได้ขึ้นมาชมทะเลหมอกบนยอดเขาพบว่ามีความสวยงามเป็นอย่างมาก นักศึกษาจึงตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่า “ภูไข่นุ้ย” ตามชื่อเล่นของ บังไข่และบังนุ้ย เมื่อภูเขาลูกนี้เปิดตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เขาไข่นุ้ย” มาจนทุกวันนี้
Comment here