กิจกรรมเพื่อสังคมข่าวข่าวประชาสัมพันธ์สังคม

กองทัพภาคที่ 3 สนองพระราชปณิธาน โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อสร้างป่าเปียกให้แก่ชุมชน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงคุณค่าอเนก อนันต์ของน้ำ ทรงคํานึงว่าทุกสรรพสิ่งในสภาพแวดล้อมของมนุษย์นั้น จะเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้หากรู้จักนําไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ เฉกเช่นเดียวกับพระราชดําริป่าเปียก เพื่อป้องกันไฟไหม้ป่านั้น จึงเป็นมรรควิธี ที่ทรงคิดค้นขึ้นจากหลักการที่แสนง่ายแต่ได้ประโยชน์มหาศาล กล่าวคือ ยามที่เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นคราใด ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะคํานึงถึงการแก้ปัญหา ด้วยการระดมสรรพกําลังกันดับไฟป่าให้มอด ดับอย่างรวดเร็ว แต่แนวทางใน การป้องกันไฟป่าในระยะยาวนั้น ยังดูเลือนรางในการวางระบบอย่างจริงจัง พระราชดําริป่าเปียก จึงเป็นพระราชดําริหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแนะนําให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดําริ ทําการศึกษาทดลองจนได้รับผลสําเร็จเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งวิธีการสร้าง “ป่าเปียก” นั้น ได้แก่
วิธีที่ 1 ทําระบบป้องกันไฟไหม้ป่า โดยใช้แนวคลองส่งน้ำ และแนวพืชชนิดต่างๆ ปลูกตามแนวคลอง
วิธีที่ 2 สร้างระบบการควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียก โดยอาศัยน้ำชลประทานและน้ำฝน
วิธีที่ 3 โดยการปลูกต้นไม้โตเร็วคลุมแนวร่องน้ำ เพื่อให้ความชุ่มชื่นค่อยๆ ทวีขึ้นและแผ่ขยายออกไป ทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทําให้ต้นไม้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่า เพราะไฟป่าจะเกิดขึ้นหากป่าขาดความชุ่มชื้น
วิธีที่ 4 โดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น หรือที่เรียกว่า Check Dam ขึ้น เพื่อปิดกั้นร่องน้ำหรือลําธาร ขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้จะซึมเข้าไปสะสมในดิน ทําให้ ความชุ่มชื้นแผ่ขยายเข้าไปทั้งสองด้านกลายเป็นป่าเปียก
วิธีที่ 5 โดยการสูบน้ำเข้าไปในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทําได้แล้วปล่อยน้ำลงมาทีละน้อย ให้ค่อยๆ ไหล ซึมดิน เพื่อช่วยเสริมการปลูกป่าบนพื้นที่สูงในรูป ภูเขาป่า ให้กลายเป็น ป่าเปียก ซึ่งสามารถป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย
วิธีที่ 6 ปลูกต้นกล้วยในพื้นที่ที่กําหนด ให้เป็นช่องว่างของป่า ประมาณ 2 เมตร หากเกิดไฟไหม้ป่า ก็จะปะทะต้นกล้วยซึ่งอุ้มน้ำไว้ได้มากกว่าพืชอื่น ทําให้ลดการสูญเสียน้ำลงไปได้มาก แนวพระราชดําริป่าเปียก จึงนับเป็นทฤษฎีการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ โดยใช้ความชุ่มชื้นเป็นหลักสําคัญ ที่จะช่วยให้ป่าเขียวสดอยู่ตลอดเวลา ไฟป่าจึงเกิดได้ยาก การพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่สามารถทําได้ง่ายและได้ผลดียิ่ง
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จึงมีดำริให้หน่วยขึ้นตรงกองทัพภาคที่ 3 ในพื้นที่ 17 ภาคเหนือ รวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัด ร่วมบูรณาการกับส่วนราชการ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชน ในการจัดทำฝายชะลอน้ำ เพื่อเป็นการสร้างป่าเปียก อันเป็นการที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของป่าแล้ว ยังเป็นการป้องกันปัญหาไฟป่า และหมอกควันอีกทางหนึ่งด้วย
กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนช่วยกันฟื้นฟูและรักษาระบบนิเวศ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูป่าไม้ ต้นน้ำน้ำลำธาร เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับแผ่นดิน สร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นการน้อมนำแนวทางตามพระราชดำริ อีกทั้งเป็นการป้องกันการเกิดไฟป่า หมอกควัน และอุ่นละอองในอากาศอีกด้วย
********************************
คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
17 กุมภาพันธ์ 2565
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าวพิษณุโลก

Comment here